วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแคน (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแคน (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)


แคนคืออะไร

     แคน เป็นเครื่องเป่าพื้นเมืองของชาวลาวที่ใช้ไม้ซางขนาดต่าง ๆ ประกอบกันเข้าเป็นตัวแคน แคนเป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ลาว ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน นักวิชาการด้านมานุษยดุริยางควิทยา จำแนกเครื่องดนตรีจำพวกแคนไว้ในกลุ่มเครื่องลม (Aerophone) ชนิดที่มีเสียงลิ้นอิสระ โดยแคนถือเป็นเครื่องเป่ามีลิ้นโลหะ เสียงเกิดจากลมผ่านลิ้นโลหะไปตามลำไม้ที่เป็นลูกแคน การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้าและดูดลมออกด้วย จึงเป่ายากพอสมควร แคนมีหลายขนาด บางขนาดมีเสียงประสานอยู่ด้วย


     แคน ทำจากไม้เฮี้ยน้อย ซึ่งช่างแคนไทยเรียกว่าไม้กู่แคน เกิดเสียงได้เพราะ มีลิ้นโลหะติดอยู่ที่รอยเจาะ ข้างลำท่อลูกแคนลูกละลิ้น ลูกแคนแต่ละลูกมีระดับเสียงต่างกัน เพราะมีระยะห่างระว่างลิ้นกับรูแพวไม่เท่ากัน... รูแพวคือรูเสียงเจาะไว้ 2 รู เหนือและล่างลูกแคน ลูกแคนของแคน 1 เต้า จะถูกจัดเป็น 2 แพ สอดเรียงไว้ในเต้าแคน ผนึกส่วนที่ฝังลิ้นไว้ในเต้าแคน ด้วยขี้สูด มัดปลายแพลูกแคนที่โผล่ออกนอกเต้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้วยตอกเครือหญ้านาง หรือตอกหวาย

ประวัติ ความเป็นมาของแคน


     ประวัติ ความเป็นมาของแคนนั้น ทราบเพียงแต่ว่า เป็นเครื่องเป่าพื้นเมืองของชาวลาว ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดและเป็นที่ยืนยันได้ ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็นคนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน"

ประเภทของแคน

     แคน แบ่งออกได้หลายประเภทตามจำนวนลูกแคน ดังต่อไปนี้
1. แคนฝังมุก มีลูกแคน 1 คู่ (2 ลูก) เป็นแคนที่ลำยาวที่สุด เวลาเป่าต้องอาศัยแรงมาก แตกยากแข็งแรง แคนชนิดนี้นิยมในหมู่วัยรุ่น และบรรเลงกันเป็นหมู่คณะ และเป็นที่นิยมในการละเล่นพื้นบ้าน

2. แคนหก มีลูกแคน 3 คู่ (6 ลูก) เป็นแคนขนาดเล็กที่สุด สำหรับเด็กหรือผู้เริ่มฝึกหัดใช้เป่าเพลงง่าย ๆ เพราะเสียงไม่ครบ

3. แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก) เป็นแคนขนาดกลาง มีเสียงครบ 7 เสียง ตามระบบสากล และมีระดับเสียงสูง ต่ำ ทั้ง 7 เสียง หรือที่เรียกว่า คู่แปด คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที (คู่แปด คือทุกเสียงเช่นเสียงโด ก็จะมีทั้งเสียงโดสูง และโดต่ำ ทุกเสียงมีคู่เสียงทั้งหมด)

4. แคนแปด ใหญ่กว่าแคนเจ็ด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก) คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เพิ่มคู่เสียงระดับสูงขึ้นไปให้เป็นเสียงประสานในการเล่นเพลงพื้นเมือง

5. แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก) ใหญ่ที่สุด เวลาเป่าต้องใช้ลมมากจึงไม่ค่อยมีคนนิยม ในเรื่องระดับเสียงของแคนเหมือนระบบเสียงดนตรีสากลนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจ น่าที่จะได้ศึกษากันต่อไปว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ดนตรีไทยไม่มีขั้นครึ่งเสียง และเพลงพื้นเมืองอีสานใช้เพียง 5 ขั้น คือ โด เร มี ซอล ลา ไม่มีเสียงฟา และ ที

วิธีการเป่าแคน

     การเป่าแคนใช้มือทั้งสองข้าง ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้ว ผู้เป่าควบคุมระดับเสียงของลูกแคนได้ ด้วยการขยับปลายนิ้วมือทั้งสองข้างปิดเปิดรูนับ ซึ่งเจาะไว้ที่ส่วนเหนือเต้าของลูกแคนทุกลูก ลูกใดถูกปิดรู ลูกนั้นจะส่งเสียง นั่นคือ ใช้นิ้วบังคับระดับเสียง ใช้ลมบังคับเสียงและจังหวะ ตามอารมณ์ลายเพลง เสียงแคนที่ออกมานั้น มีทั้งทำนองเพลง เสียงประสาน เสียงสอดแทรก แสดงถึงอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ อย่างพร้อมมูลทีเดียว .....เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถใช้ อุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ เลียนเสียงได้เหมือน เพราะอุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ ให้อารมณ์เพลงไม่ได้ ยิ่งถ้าได้หมอแคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญมากๆ มาเป่าแคน ยิ่งจะเพิ่มความไพเราะ ซาบซึ้งจับใจมากยิ่งขึ้น ฟังแล้ว เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ออนซอน” ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นๆ มาเทียบได้

     การเรียกบันไดเสียงของแคนแต่ละเต้า เรียกเป็นตัวเลขบอกจำนวนนิ้วโป้ง โดยยึดเอาลูกแคนเสียง “ลาต่ำ” (motive) เป็นเสียงหลัก ระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพว ที่เจาะไว้ส่วนล่างของลูกแคนนี้ วัดได้กี่นิ้วโป้ง ก็จะใช้เลขจำนวนนั้น เป็นชื่อเรียกบันไดเสียงของแคนทั้งเต้า เช่น ถ้าลูกเสียง “ลาต่ำ” ของแคนเต้าหนึ่ง วัดระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพวล่างได้ 7 นิ้วโป้ง ก็เรียกบันไดเสียงของแคนเต้านั้นว่าเป็น “แคนเจ็ดโป้” (โป้ เป็นภาษาอีสาน แปลว่านิ้วโป้ง) เทียบได้กับประมาณบันไดเอไมเนอร์หรือซีเมเจอร์ ของสเกลดนตรีสากล

     นักดนตรีชาวไทยเรียกแคน 1 เครื่องว่า   “แคน 1 เต้า” ....ในขณะที่นักดนตรีชาวลาว เรียกว่า “แคน 1 ดวง” แคนเต้าหนึ่ง ประกอบด้วยลูกแคนหลายลูก ลูกแคนต่างลูก ให้เสียงต่างระดับกัน ระบบเสียงของแคน จึงขึ้นอยู่กับระดับเสียงต่างๆ ของลูกแคนที่รวมอยู่ในแคนแต่ละเต้า

     แคนนอกจากบรรเลงเป็นวงแล้ว ก็ยังใช้บรรเลงประกอบการลำ (การขับร้อง) หรือใช้บรรเลงร่วมกับพิณ โปงลาง หรือเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานอื่นๆ

ที่มา : http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=kaen00.php

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น