วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโปงลาง (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโปงลาง (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

โปงลางคืออะไร

     โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือเครื่องตี ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานชนิดหนึ่ มีลักษณะคล้ายระนาดแต่แขวนในแนวดิ่ง เป็นที่นิยมในภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือ เกราะลอ(ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นดงมูลอำเภอหนองกุงศรีเรียก "หมากเต๋อเติ่น") เป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

     โปงลาง พัฒนามาจากเกราะลอหรือขอลอ โดยสมัยก่อน ทุกหมู่บ้าน จะมีเกราะลอ ไว้ตีสำหรับเรียกชาวบ้านมาประชุมกัน เสียงเกราะลอจะดังกังวานไกล ให้ได้ยินกันทั้งหมู่บ้าน

ประวัติ ความเป็นมาของโปงลาง(ฉบับย่อ)


     จากการสัมภาษณ์อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ผู้พัฒนาเกราะลอในอดีต จนเป็นโปงลางแบบปัจจุบัน ทราบว่า ท้าวพรหมโคตร ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว ได้นำเกราะลอหลายๆ ตัว มาขึงมัดรวมกันเป็นแถว ใช้ตีสำหรับไล่นกกาที่มากินข้าวในนา โดยในสมัยแรกนั้น ไม่มีการเรียงตัวโน้ตใดๆ ตีให้เกิดเสียงดังเฉยๆ นอกจากนั้น บางครั้งเกิดความเบื่อหน่าย ก็ตีเล่นเป็นจังหวะเพลง จนต่อมาเกิดแนวคิดในการเรียงโน้ตเข้าไป แต่ยังไม่ได้เป็นโปงลางแบบปัจจุบัน

     ต่อมาท้าวพรหมโคตรได้ถ่ายทอดการทำและการตีเกราะลอให้นายปาน นายปานถ่ายทอดให้นายขาน ผู้เป็นน้อง นายขาน ได้ถ่ายทอดให้อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งต่อมา อาจารย์เปลื้อง ได้คิดค้นพัฒนาต่อ จนเป็นโปงลางแบบที่เห็นในปัจจุบัน อย่างสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และตั้งชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า โปงลาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     โปงลาง มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น หมากกลิ้งกล่อม, หมากเตอะเติ่น, หมากเติดเติ่ง, หมากเกราะลอ, แต่ชื่อเรียกที่คนรู้จักโดยทั่วไป คือ โปงลาง ซึ่งอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี เป็นผู้ตั้งชื่อนี้

     โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีสำหรับตีหรือเคาะ คล้ายระนาดของดนตรีไทย แต่การวางขึง สำหรับตีแตกต่างกัน และระนาดมีกล่องเสียง แต่โปงลางไม่มีกล่องเสียง โปงลางแบบมาตรฐาน ประกอบด้วยลูกโปงลาง ๑๓ ลูก มีโน้ต ๖ โน้ต คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา โดยเรียงโน้ตจากเสียงต่ำ-สูง ได้ครบสองช่วงทบเสียง ดังนี้ คือ “มี ซอล ลา โด เร มี ฟา ซอล ลา โด เร มี ซอล ” สามารถเล่นลายแคนได้ทั้ง ลายใหญ่ ลายน้อย ลายสุดสะแนน และลายโป้ซ้าย

วิธีทำโปงลาง


     โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม โดยไม้มะหาดชนิดที่ให้เสียงกังวานใสดี คือไม้มะหาดทอง และไม้อื่นๆ ที่ทำโปงลางได้ เช่น ไม้พะยูง ไม้ไผ่ เป็นต้น ทั้งไม้มะหาดและไม้มะเหลื่อม เป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ วิธีการทำเอาไม้ที่แห้งแล้ว มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับหลัก หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ในสมัยอดีตโปงลางนั้นมีด้วยกัน 5เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโดย นาย เปลื้อง ฉายรัศมี โปงลางที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 6 เสียง 13 ลูก คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา (ต่อมามีเสียง ที ด้วย) ซึ่งแตกต่างจากระนาดซึ่งมีเจ็ดเสียง และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ

ที่มา : http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=ponglang.php