วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโปงลาง (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโปงลาง (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

โปงลางคืออะไร

     โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือเครื่องตี ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานชนิดหนึ่ มีลักษณะคล้ายระนาดแต่แขวนในแนวดิ่ง เป็นที่นิยมในภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือ เกราะลอ(ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นดงมูลอำเภอหนองกุงศรีเรียก "หมากเต๋อเติ่น") เป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

     โปงลาง พัฒนามาจากเกราะลอหรือขอลอ โดยสมัยก่อน ทุกหมู่บ้าน จะมีเกราะลอ ไว้ตีสำหรับเรียกชาวบ้านมาประชุมกัน เสียงเกราะลอจะดังกังวานไกล ให้ได้ยินกันทั้งหมู่บ้าน

ประวัติ ความเป็นมาของโปงลาง(ฉบับย่อ)


     จากการสัมภาษณ์อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ผู้พัฒนาเกราะลอในอดีต จนเป็นโปงลางแบบปัจจุบัน ทราบว่า ท้าวพรหมโคตร ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว ได้นำเกราะลอหลายๆ ตัว มาขึงมัดรวมกันเป็นแถว ใช้ตีสำหรับไล่นกกาที่มากินข้าวในนา โดยในสมัยแรกนั้น ไม่มีการเรียงตัวโน้ตใดๆ ตีให้เกิดเสียงดังเฉยๆ นอกจากนั้น บางครั้งเกิดความเบื่อหน่าย ก็ตีเล่นเป็นจังหวะเพลง จนต่อมาเกิดแนวคิดในการเรียงโน้ตเข้าไป แต่ยังไม่ได้เป็นโปงลางแบบปัจจุบัน

     ต่อมาท้าวพรหมโคตรได้ถ่ายทอดการทำและการตีเกราะลอให้นายปาน นายปานถ่ายทอดให้นายขาน ผู้เป็นน้อง นายขาน ได้ถ่ายทอดให้อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งต่อมา อาจารย์เปลื้อง ได้คิดค้นพัฒนาต่อ จนเป็นโปงลางแบบที่เห็นในปัจจุบัน อย่างสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และตั้งชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า โปงลาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     โปงลาง มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น หมากกลิ้งกล่อม, หมากเตอะเติ่น, หมากเติดเติ่ง, หมากเกราะลอ, แต่ชื่อเรียกที่คนรู้จักโดยทั่วไป คือ โปงลาง ซึ่งอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี เป็นผู้ตั้งชื่อนี้

     โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีสำหรับตีหรือเคาะ คล้ายระนาดของดนตรีไทย แต่การวางขึง สำหรับตีแตกต่างกัน และระนาดมีกล่องเสียง แต่โปงลางไม่มีกล่องเสียง โปงลางแบบมาตรฐาน ประกอบด้วยลูกโปงลาง ๑๓ ลูก มีโน้ต ๖ โน้ต คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา โดยเรียงโน้ตจากเสียงต่ำ-สูง ได้ครบสองช่วงทบเสียง ดังนี้ คือ “มี ซอล ลา โด เร มี ฟา ซอล ลา โด เร มี ซอล ” สามารถเล่นลายแคนได้ทั้ง ลายใหญ่ ลายน้อย ลายสุดสะแนน และลายโป้ซ้าย

วิธีทำโปงลาง


     โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม โดยไม้มะหาดชนิดที่ให้เสียงกังวานใสดี คือไม้มะหาดทอง และไม้อื่นๆ ที่ทำโปงลางได้ เช่น ไม้พะยูง ไม้ไผ่ เป็นต้น ทั้งไม้มะหาดและไม้มะเหลื่อม เป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ วิธีการทำเอาไม้ที่แห้งแล้ว มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับหลัก หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ในสมัยอดีตโปงลางนั้นมีด้วยกัน 5เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโดย นาย เปลื้อง ฉายรัศมี โปงลางที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 6 เสียง 13 ลูก คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา (ต่อมามีเสียง ที ด้วย) ซึ่งแตกต่างจากระนาดซึ่งมีเจ็ดเสียง และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ

ที่มา : http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=ponglang.php

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแคน (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแคน (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)


แคนคืออะไร

     แคน เป็นเครื่องเป่าพื้นเมืองของชาวลาวที่ใช้ไม้ซางขนาดต่าง ๆ ประกอบกันเข้าเป็นตัวแคน แคนเป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ลาว ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน นักวิชาการด้านมานุษยดุริยางควิทยา จำแนกเครื่องดนตรีจำพวกแคนไว้ในกลุ่มเครื่องลม (Aerophone) ชนิดที่มีเสียงลิ้นอิสระ โดยแคนถือเป็นเครื่องเป่ามีลิ้นโลหะ เสียงเกิดจากลมผ่านลิ้นโลหะไปตามลำไม้ที่เป็นลูกแคน การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้าและดูดลมออกด้วย จึงเป่ายากพอสมควร แคนมีหลายขนาด บางขนาดมีเสียงประสานอยู่ด้วย


     แคน ทำจากไม้เฮี้ยน้อย ซึ่งช่างแคนไทยเรียกว่าไม้กู่แคน เกิดเสียงได้เพราะ มีลิ้นโลหะติดอยู่ที่รอยเจาะ ข้างลำท่อลูกแคนลูกละลิ้น ลูกแคนแต่ละลูกมีระดับเสียงต่างกัน เพราะมีระยะห่างระว่างลิ้นกับรูแพวไม่เท่ากัน... รูแพวคือรูเสียงเจาะไว้ 2 รู เหนือและล่างลูกแคน ลูกแคนของแคน 1 เต้า จะถูกจัดเป็น 2 แพ สอดเรียงไว้ในเต้าแคน ผนึกส่วนที่ฝังลิ้นไว้ในเต้าแคน ด้วยขี้สูด มัดปลายแพลูกแคนที่โผล่ออกนอกเต้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้วยตอกเครือหญ้านาง หรือตอกหวาย

ประวัติ ความเป็นมาของแคน


     ประวัติ ความเป็นมาของแคนนั้น ทราบเพียงแต่ว่า เป็นเครื่องเป่าพื้นเมืองของชาวลาว ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดและเป็นที่ยืนยันได้ ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็นคนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน"

ประเภทของแคน

     แคน แบ่งออกได้หลายประเภทตามจำนวนลูกแคน ดังต่อไปนี้
1. แคนฝังมุก มีลูกแคน 1 คู่ (2 ลูก) เป็นแคนที่ลำยาวที่สุด เวลาเป่าต้องอาศัยแรงมาก แตกยากแข็งแรง แคนชนิดนี้นิยมในหมู่วัยรุ่น และบรรเลงกันเป็นหมู่คณะ และเป็นที่นิยมในการละเล่นพื้นบ้าน

2. แคนหก มีลูกแคน 3 คู่ (6 ลูก) เป็นแคนขนาดเล็กที่สุด สำหรับเด็กหรือผู้เริ่มฝึกหัดใช้เป่าเพลงง่าย ๆ เพราะเสียงไม่ครบ

3. แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก) เป็นแคนขนาดกลาง มีเสียงครบ 7 เสียง ตามระบบสากล และมีระดับเสียงสูง ต่ำ ทั้ง 7 เสียง หรือที่เรียกว่า คู่แปด คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที (คู่แปด คือทุกเสียงเช่นเสียงโด ก็จะมีทั้งเสียงโดสูง และโดต่ำ ทุกเสียงมีคู่เสียงทั้งหมด)

4. แคนแปด ใหญ่กว่าแคนเจ็ด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก) คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เพิ่มคู่เสียงระดับสูงขึ้นไปให้เป็นเสียงประสานในการเล่นเพลงพื้นเมือง

5. แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก) ใหญ่ที่สุด เวลาเป่าต้องใช้ลมมากจึงไม่ค่อยมีคนนิยม ในเรื่องระดับเสียงของแคนเหมือนระบบเสียงดนตรีสากลนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจ น่าที่จะได้ศึกษากันต่อไปว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ดนตรีไทยไม่มีขั้นครึ่งเสียง และเพลงพื้นเมืองอีสานใช้เพียง 5 ขั้น คือ โด เร มี ซอล ลา ไม่มีเสียงฟา และ ที

วิธีการเป่าแคน

     การเป่าแคนใช้มือทั้งสองข้าง ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้ว ผู้เป่าควบคุมระดับเสียงของลูกแคนได้ ด้วยการขยับปลายนิ้วมือทั้งสองข้างปิดเปิดรูนับ ซึ่งเจาะไว้ที่ส่วนเหนือเต้าของลูกแคนทุกลูก ลูกใดถูกปิดรู ลูกนั้นจะส่งเสียง นั่นคือ ใช้นิ้วบังคับระดับเสียง ใช้ลมบังคับเสียงและจังหวะ ตามอารมณ์ลายเพลง เสียงแคนที่ออกมานั้น มีทั้งทำนองเพลง เสียงประสาน เสียงสอดแทรก แสดงถึงอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ อย่างพร้อมมูลทีเดียว .....เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถใช้ อุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ เลียนเสียงได้เหมือน เพราะอุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ ให้อารมณ์เพลงไม่ได้ ยิ่งถ้าได้หมอแคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญมากๆ มาเป่าแคน ยิ่งจะเพิ่มความไพเราะ ซาบซึ้งจับใจมากยิ่งขึ้น ฟังแล้ว เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ออนซอน” ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นๆ มาเทียบได้

     การเรียกบันไดเสียงของแคนแต่ละเต้า เรียกเป็นตัวเลขบอกจำนวนนิ้วโป้ง โดยยึดเอาลูกแคนเสียง “ลาต่ำ” (motive) เป็นเสียงหลัก ระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพว ที่เจาะไว้ส่วนล่างของลูกแคนนี้ วัดได้กี่นิ้วโป้ง ก็จะใช้เลขจำนวนนั้น เป็นชื่อเรียกบันไดเสียงของแคนทั้งเต้า เช่น ถ้าลูกเสียง “ลาต่ำ” ของแคนเต้าหนึ่ง วัดระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพวล่างได้ 7 นิ้วโป้ง ก็เรียกบันไดเสียงของแคนเต้านั้นว่าเป็น “แคนเจ็ดโป้” (โป้ เป็นภาษาอีสาน แปลว่านิ้วโป้ง) เทียบได้กับประมาณบันไดเอไมเนอร์หรือซีเมเจอร์ ของสเกลดนตรีสากล

     นักดนตรีชาวไทยเรียกแคน 1 เครื่องว่า   “แคน 1 เต้า” ....ในขณะที่นักดนตรีชาวลาว เรียกว่า “แคน 1 ดวง” แคนเต้าหนึ่ง ประกอบด้วยลูกแคนหลายลูก ลูกแคนต่างลูก ให้เสียงต่างระดับกัน ระบบเสียงของแคน จึงขึ้นอยู่กับระดับเสียงต่างๆ ของลูกแคนที่รวมอยู่ในแคนแต่ละเต้า

     แคนนอกจากบรรเลงเป็นวงแล้ว ก็ยังใช้บรรเลงประกอบการลำ (การขับร้อง) หรือใช้บรรเลงร่วมกับพิณ โปงลาง หรือเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานอื่นๆ

ที่มา : http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=kaen00.php

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพิณ (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพิณ (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน)
พิณคืออะไร

     พิณ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชนิดหนึ่ง ที่มีหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นในภาคอีสานของประเทศไทย โดยพิณอาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่นนั้นๆด้วย เช่น ทางอุบลราชธานี เรียกว่า “ซุง” ทางชัยภูมิเรียกว่า “เต่ง” หรือ “อีเต่ง” ทางหนองคาย เรียกว่า “ขจับปี่” เป็นต้น แต่ชื่อสามัญที่คนทั่วไปใช้เรียก ก็คือ “พิณ” นั่นเอง

     พิณ จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย มีรูปร่างคล้ายกีตาร์แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปมี 3 สาย ในบางท้องถิ่นอาจมี 2 หรือ 4 สาย บรรเลงโดยการดีดด้วยวัสดุทีเป็นแผ่นบาง เช่น ไม้ไผ่เหลา พลาสติกแข็งๆ หรืออาจใช้ปิ้กกีตาร์ดีดก็ได้ สมัยก่อนจะเล่นเครื่องเดียวเพื่อเกี้ยวสาว แต่ในปัจจุบันมักใช้บรรเลงในวงดนตรีโปงลาง วงดนตรีหมอลำ วงดนตรีลำซิ่ง หรือวงดนตรีลูกทุ่ง

ประวัติ ความเป็นมาของพิณ



     พิณ เป็นเครื่องดนตรีประเภทสายดีดที่มีมานาน นานจนไม่อาจทราบได้ว่า ใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเป็นคนแรก เครื่องดนตรีที่มีหลักการเช่นเดียวกันนี้ พบในหลายๆ ประเทศ แต่ชื่อเรียก ย่อมแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติภาษา และรูปร่างปลีกย่อยอาจแตกต่างกันไปเช่นกัน

     พิณ สมัยก่อน มีเฉพาะพิณโปร่ง นิยมทำจากไม้ขนุน เนื่องจาก ให้เสียงกังวานใสดี เกิดกำทอนดี ไม้ขนุน เนื้อไม่แข็งมาก ใช้มีด ใช้สิ่วเจาะทำพิณได้ไม่ยาก จริงๆ แล้ว ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะหาด ไม้ยูง ก็ให้เสียงกังวานใสดีเช่นกัน แต่เนื้อไม้ค่อนข้างแข็งมาก และค่อนข้างหายาก จึงไม่นิยมนำมาทำพิณ ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะเหลื่อม ไม้ฉำฉา เป็นต้น ก็ทำพิณได้เช่นกัน แต่เสียงอาจจะไม่แน่นดี ซึ่งหากจะเอาแค่ดีดแล้วมีเสียงดัง จะใช้ไม้อะไรก็ได้ที่ขึงสายแล้วตัวพิณไม่หัก นอกจากนั้น ช่างทำพิณบางคน อาจทำเต้าพิณจากกะลา น้ำเต้า บั้งไม้ไผ่ กระดองเต่า ใช้หนังสัตว์ เช่นหนังงู เป็นต้น ทำเป็นแผ่นประกบปิดเต้าพิณ

     พิณ สมัยปัจจุบัน มีทั้งพิณโปร่ง พิณไฟฟ้า และพิณโปร่งไฟฟ้า


     สายพิณ สมัยโบราณ เข้าใจว่า คงใช้เชือกหรือหนัง จากนั้น เมื่อมีรถจักรยานแล้ว ก็หันมาใช้สายเบรกรถจักรยานแทน แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้ผลิตสายกีตาร์จำหน่าย จึงหันมาใช้สายกีตาร์โปร่งสำหรับพิณโปร่ง สายกีตาร์ไฟฟ้าสำหรับพิณไฟฟ้า

     พิณ มีเสียงกังวานสดใส สามารถบรรเลงเพลงได้ทั้งจังหวะอ่อนหวาน เศร้ารันทด และสนุกสนานครื้นเครง เข้าถึงอารมณ์แบบพื้นบ้าน พิณจึงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของคนอีสาน

ที่มา : http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/?transaction=pin.php